10 ประเด็นการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม (ตอนที่ 6) 1073 Views

รายละเอียด

บทความโดย : รัชกฤช คล่องพยาบาล


กรรมการชุดโครงการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (RCU) 


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

10 ประเด็นการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ตอนที่ 6

ในตอนที่ 6 นี้เป็น 2 ประเด็นสุดท้ายที่เกิดขึ้นในช่วงใกล้เสร็จสิ้นโครงการ หรือช่วงปิดโครงการ อันเป็นผลลัพธ์สุดท้ายของการวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ว่าจะเป็นประเด็นช่วงท้ายของกิจกรรมวิจัย แต่ถ้านักวิจัยหรือผู้ประกอบการเข้าใจถึงประเด็นทั้งสองนี้อย่างชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นหรือก่อนเริ่มโครงการ ก็จะทำให้การวางแผนการวิจัย หรือการดำเนินการต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อไปมีความราบรื่น และไม่เกิดปัญหาในภายหลัง

 

9. “ต้นทุน” ของใคร

ประเด็นเกี่ยวกับ “ต้นทุน” ที่กล่าวถึงในที่นี้ คือประเด็นของแนวคิดหรือวิธีการคำนวณต้นทุนของผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยของนักวิจัย กับต้นทุนผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยถ้ามีการผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือความแตกต่างของ ต้นทุน lab scale กับต้นทุนเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งมีความแตกต่างกันในแนวคิดหรือวิธีการคำนวณที่เกี่ยวข้อง โดยต้นทุนในฝั่งนักวิจัย หรือต้นทุน lab scale ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนที่นักวิจัยคำนวณจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกิจกรรมวิจัย ซึ่งอาจแบ่งเป็นลักษณะที่พบส่วนใหญ่ 2 แบบ คือ แบบแรกเป็นการคำนวณจากมูลค่าทุนวิจัย ซึ่งหมวดรายการจะประกอบด้วย วัตถุดิบ+ค่าตอบแทนคณะวิจัย+ค่าใช้จ่ายในการวิจัย โดยมักมีที่มาจาก ค่าวัตถุดิบ ค่าสารเคมี ค่าตอบแทนนักวิจัย ค่าจ้างเหมา ค่าใช้จ่ายในการทดสอบ ค่าครุภัณฑ์ ค่าเดินทาง ค่าใช้สอยอื่นๆ ที่เกิดขึ้น แล้วแปลงค่าใช้จ่ายหรือทุนวิจัยทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นต้นทุนผลผลิตต่อหน่วย (unit cost) จากจำนวนหรือปริมาณต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกิจกรรมวิจัย หรือแบบที่สอง คือ เป็นการประมาณการจากต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ถ้ามีการผลิตผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย ซึ่งมาจาก ค่าวัตถุดิบ ค่าสารเคมี ค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงานการผลิต ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งก็มักจะเป็นต้นทุนผลผลิตต่อหน่วย (unit cost) เช่นกัน แต่จำนวนหรือปริมาณผลิตภัณฑ์ จะมาจากการประมาณการยอดขาย ที่อาจได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการ หรือนักวิจัยตั้งสมมติฐานขึ้นมาเอง โดยวิธีการคำนวณต้นทุนแบบที่สองนี้ ส่วนใหญ่เป็นวิธีการคำนวณต้นทุนที่นักวิจัยใช้ในปัจจุบัน สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเชิงพาณิชย์หรือภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยอาจมีการกำหนดให้นักวิจัยคำนวณต้นทุนในเชิงการผลิตเพื่อการพาณิชย์ หรือสำหรับการผลิตเชิงอุตสาหกรรมประกอบด้วยในรายงานฉบับสมบูรณ์

อย่างไรก็ตามวิธีการทั้ง 2 แบบข้างต้น มีความแตกต่างจากวิธีการคำนวณต้นทุนเชิงอุตสาหกรรมในข้อเท็จจริง เนื่องจากในการดำเนินธุรกิจจะมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านการตลาด หรือด้านการขายและบริหาร รวมถึงอาจต้องคำนึงถึงต้นทุนทางการเงินอีกด้วย โดยหมวดรายการของการคำนวณต้นทุนเชิงอุตสาหกรรมในบริบทของธุรกิจหรือเชิงพาณิชย์ จะประกอบด้วย วัตถุดิบ+เครื่องจักรอุปกรณ์+กระบวนการผลิต+การบริหาร+การตลาด+การเงิน+กำไร ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีรายการที่เข้ามาเกี่ยวข้องในบริบทของธุรกิจมีมากมาย เพื่อให้เห็นรายละเอียดของหมวดรายการเหล่านี้ ผู้เขียนจะได้อธิบายในแต่ละหมวดรายการ และสิ่งที่ควรคำนึงถึงความแตกต่างจากแนวการคิดระหว่างต้นทุน lab scale กับต้นทุนเชิงอุตสาหกรรมโดยสังเขป ดังนี้

หมวดวัตถุดิบ คือ ต้นทุนวัตถุดิบทั้งหมดที่นำมาใช้ในการแปรรูปเพื่อเป็นสินค้าสำเร็จรูป โดยจุดที่ควรคำนึง คือ ต้นทุนของวัตถุดิบจาก lab scale มักมีเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบที่นำมาใช้จริง หรือตามปริมาณการผลิตเท่านั้น แต่ถ้าเป็นต้นทุนเชิงอุตสาหกรรม นอกจากวัตถุดิบหลักแล้ว ยังอาจต้องคิดเกี่ยวกับสินค้าซื้อมา เพื่อใช้ในการผลิตอื่น ๆ เพื่อการจำหน่ายด้วย เช่น บรรจุภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นบรรจุภัณฑ์หลัก บรรจุภัณฑ์ชั้นนอกเพื่อการขนส่ง รวมถึงเรื่องของปริมาณการใช้งานที่อาจรวมถึงสต้อควัตถุดิบที่มากกว่าปริมาณการผลิตจริง นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของราคาซื้อวัตถุดิบ ที่ต้นทุนของวัตถุดิบจาก lab scale จะมีราคาซื้อในจำนวนน้อย ทำให้มีราคาแพงกว่าการซื้อในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการซื้อในปริมาณมาก หรือเป็นการซื้อแบบ Bulk ที่ราคาจำหน่ายจากซัพพลายเออร์ต่ำกว่ามาก เป็นต้น

หมวดเครื่องจักรอุปกรณ์ คือ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ ต้นทุนจาก lab scale มักไม่มีการคำนึงถึงเรื่องนี้ ในขณะที่ต้นทุนเชิงอุตสาหกรรม จะคิดจากค่าเสื่อมราคา (depreciation) ของมูลค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยหลักการพื้นฐาน คือ ประมาณการอายุการใช้งานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ หักด้วยมูลค่าซาก แล้วทอนค่าเป็นค่าใช้จ่ายแต่ละปี หรือใช้วิธีการประมาณการต่อหน่วย จากความสามารถที่เครื่องจักรและอุปกรณ์สามารถผลิตสินค้านี้ก็ได้ โดยการลงทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ อาจคิดจากต้นทุนซื้อใหม่ หรือการคิดจากต้นทุนตามสภาพ โดยราคาเครื่องจักรอุปกรณ์ อาจสืบค้นจากราคาซัพพลายเออร์ในประเทศหรือต่างประเทศ เป็นต้น

หมวดกระบวนการผลิต คือ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 4 รายการหลัก คือ 1.แรงงานการผลิต 2.ค่าสาธารณูปโภคที่ใช้ในกระบวนการผลิต 3.ค่าขนส่ง และ 4.ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด โดยรายการแรกเป็นแรงงานการผลิต ซึ่งเป็นต้นทุนของแรงงานทางตรง (direct labor) ซึ่งอาจคำนวณจากค่าจ้างรายวัน หรือใช้การแปลงค่าจากเงินเดือนบุคลากรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลิต รายการที่สองเป็นค่าสาธารณูปโภคที่ใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งต้นทุนและค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากค่าพลังงานไฟฟ้า ที่นำมาใช้สำหรับการทำงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระบบปรับอากาศ Boiler และค่าน้ำประปา เป็นต้น ซึ่งต้นทุน lab scale กับต้นทุนเชิงอุตสาหกรรมต่อหน่วยในรายการนี้ มักมีความแตกต่างกันไม่มากนัก อย่างไรก็ตามในฝั่ง lab scale ควรคำนึงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าพลังงาน หรือค่าใช้จ่ายกระบวนการผลิตอื่น ๆ ในบริบทการผลิตเชิงอุตสาหกรรมด้วย เช่น การต้องมีระบบปรับอากาศ ระบบบำบัด หรือพลังงานจากเครื่องจักรที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม รายการที่สามเป็นค่าขนส่ง ซึ่งมักคำนวณเฉพาะค่าขนส่งเข้า คือ ค่าขนส่งที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยอาจรวมถึงค่าขนส่งออกที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายสินค้าสำเร็จรูปเพื่อเตรียมการจำหน่าย เช่น การเคลื่อนย้ายเข้าสู่คลังสินค้าเพื่อเตรียมการจำหน่าย และรายการที่สี่เป็นค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เช่น อุปกรณ์สิ้นเปลืองต่างๆ โดยรายการที่สามและรายการที่สี่นี้มักไม่ปรากฏในต้นทุนจาก lab scale แต่สำหรับต้นทุนเชิงอุตสาหกรรมจะมีรายการเหล่านี้รวมอยู่ในต้นทุนที่ธุรกิจใช้ในการคำนวณ

หมวดการบริหาร คือ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการ เช่น เงินเดือนบุคลากรในการบริหารจัดการธุรกิจ เช่น กรรมการผู้จัดการ บุคลากรฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายงานต่างๆ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการบริการจัดการ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด เป็นต้น ทั้งนี้ในหมวดการบริหารอาจมีการนำค่าเสื่อมราคาของส่วนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ หรือเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ในการบริหารจัดการ เช่น คอมพิวเตอร์ ส่วนตกแต่ง เข้ามาคำนวณประกอบด้วย โดยแยกออกจากส่วนที่ถูกคำนวณไปในด้านการผลิต

หมวดการตลาด คือ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการจัดการด้านการตลาด หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดในกระบวนการนำสินค้าสำเร็จรูปจำหน่ายให้กับผู้บริโภค เช่น ค่าคอมมิชชั่น ค่าเปิดบัญชีสินค้า ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ การออกบูธแสดงสินค้า ค่าใช้จ่ายในช่องทางจัดจำหน่าย ค่าเช่าพื้นที่ร้านค้า เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นหมวดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายมูลค่าสูง โดยเฉพาะถ้าเป็นสินค้าประเภท B2C โดยสินค้าบางประเภทต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการจัดการด้านการตลาด สูงกว่าต้นทุนการผลิตหลายเท่า โดยหมวดรายการนี้มักไม่ปรากฏการคำนวณสำหรับต้นทุน lab scale แต่ถือเป็นหมวดรายการด้านต้นทุนสำคัญสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์

หมวดการเงิน คือ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการจัดการทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน หรือ เงินปันผล สำหรับการลงทุนของธุรกิจถ้ามีการผลิตสินค้าจากงานวิจัย ที่อาจต้องมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน หรือการระดุมจากผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนภายนอก โดยหมวดรายการนี้มักไม่ปรากฏการคำนวณสำหรับต้นทุน lab scale แต่เป็นหมวดรายการต้นทุนสำคัญอีกหมวดหนึ่งสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์เช่นเดียวกัน

หมวดกำไร คือ ผลตอบแทนที่ธุรกิจต้องการถ้ามีการลงทุนผลิตสินค้าจากงานวิจัย แม้ว่าหมวดกำไรนี้จะไม่ใช่ต้นทุนสินค้าโดยตรง แต่การคำนวณหรือประมาณการหมวดกำไรนี้ จะช่วยให้ทราบถึงการกำหนดโครงสร้างของการกำหนดราคาขายหน้าโรงงานได้ ว่าควรมีราคาตั้งขายประมาณเท่าใด หรือเพื่อใช้ประมาณการย้อนกลับว่าจากราคาขายปลีกของสินค้าในตลาด ควรมีราคาขายหน้าโรงงานในราคาเท่าใด จึงจะสามารถแข่งขันได้ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าต้นทุน lab scale กับต้นทุนเชิงอุตสาหกรรม มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามความเข้าใจเกี่ยวกับหมวดรายการต่างๆ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการลงทุนได้โดยสะดวก และสามารถประมาณการราคาขายสินค้าเพื่อการแข่งขันได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากนักวิจัยมีความเกี่ยวข้องหรือทราบเฉพาะต้นทุนที่เกี่ยวข้องเพียงบางหมวดเท่านั้น การแยกหมวดรายการที่ชัดเจน หรือเข้าใจความเกี่ยวข้องด้านต้นทุนทั้ง 2 ประเภท จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถทราบได้ว่าควรลงทุนอย่างไรจากข้อมูลต้นทุนของนักวิจัย หรือมีส่วนใดที่สามารถปรับปรุงแก้ไขหรือใช้ทางเลือกอื่น เพื่อการนำผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์

 

10. จบงานอย่างไร

ขั้นตอนสุดท้ายเมื่อการดำเนินกิจกรรมวิจัยแล้วเสร็จ คือ การปิดโครงการ ซึ่งการจบงานหรือปิดโครงการให้ราบรื่น นักวิจัยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจระบุไว้โดยตรงในสัญญาขอรับทุนหรืออาจไม่ได้ระบุไว้ แต่เป็นสิ่งที่ถือว่ามีความจำเป็นสำหรับการดำเนินการ ได้แก่

การถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวคือ กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการจะทำอย่างไร ทำที่ไหน โดยใคร เป็นต้น หรือถ้าผู้ประกอบการใช้การว่าจ้างการผลิตคือผู้ใช้ผลงานวิจัยไม่ใช่ผู้ประกอบการโดยตรง นักวิจัยควรตกลงถึงบทบาทการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร และผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งอาจไม่ได้ระบุไว้ใน TOR เป็นต้น

กระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เทคโนโลยีจากงานวิจัยสามารถผนวกรวมเข้ากับกระบวนการผลิตเดิมที่มีอยู่ของผู้ประกอบการอย่างไร ถ้าต้องมีการลงทุนใหม่จำเป็นต้องมีการลงทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ใดบ้าง หรือการขยายกำลังการผลิต (scale-up) จะทำอย่างไร ทำได้หรือไม่ หรือถ้าผู้ประกอบการยังไม่พร้อม จำเป็นต้องใช้การว่าจ้างการผลิต ควรมีลักษณะหรือรูปแบบการดำเนินการอย่างไร

การตีพิมพ์และการเผยแพร่ผลงานวิจัย นักวิจัยและผู้ประกอบการควรตกลงให้ชัดเจนเกี่ยวกับการตีพิมพ์และการเผยแพร่ผลงานวิจัย ว่าสิ่งใดที่นักวิจัยสามารถนำไปตีพิมพ์หรือเปิดเผยได้ หรือสิ่งใดที่ผู้ประกอบการขอสงวนสิทธิ์ไว้ เนื่องจากถือเป็นองค์ความรู้สำคัญในด้านการผลิตที่ต้องสงวนไว้เพื่อการแข่งขัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรม หรืออาจเป็นเรื่องของเวลาสำหรับการส่งตีพิมพ์และการเผยแพร่ผลงานวิจัย กับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ที่ไม่เกิดความขัดแย้งหรือเป็นการเปิดเผยข้อมูลสำคัญในเชิงเทคโนโลยีการผลิต

แผนงานวิจัยและพัฒนาในอนาคต งานวิจัยนี้ควรมีการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยในอนาคตหรือไม่ ถ้ามีควรเป็นเรื่องใด และจะเกิดประโยชน์ทั้งกับนักวิจัยและผู้ประกอบการอย่างไร

TOR ของหน่วยงาน และการตกลงกับผู้ประกอบการ เป็นส่วนสำคัญที่ถือเป็นหัวใจของการปิดโครงการ คือ การดำเนินการให้ครบถ้วนตาม TOR ของหน่วยงานผู้ให้ทุน หรือตามสัญญาข้อตกลงของการวิจัย อย่างไรก็ตามส่วนที่สำคัญที่สุด คือเรื่องของการตกลงกับผู้ประกอบการ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้การระบุไว้ใน TOR แต่ถ้านักวิจัยได้มีการตกลงเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับผู้ประกอบการ ควรดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ อันจะทำให้สามารถปิดโครงการได้อย่างราบรื่น และช่วยให้เกิดโอกาสที่จะดำเนินการวิจัยงานอื่นๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต

สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่า 10 ประเด็นการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ทั้ง 6 ตอนนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนักวิจัย ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจ สำหรับการผลักดันผลงานวิจัยให้สามารถนำออกสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมที่ร่วมสนับสนุนโครงการ ให้เกิดความเติบโต ยั่งยืน และสร้างนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป

Tech2biz
Admin Tech2biz