5 เทคโนโลยีแห่งอนาคตช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ 23824 Views

รายละเอียด

สรุปและเรียบเรียงโดย Tech2Biz

ที่มา  www.forbes.comwww.telegraph.co.uk



 

ย้อนกลับไป 100 - 150 ปีที่แล้วในยุคที่การแพทย์ยังไม่ทันสมัยมากนัก อายุขัยของมนุษย์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ปีเท่านั้น  สาเหตุการเสียชีวิตของคนสมัยก่อนก็เหมือนคนยุคปัจจุบัน คือ อุบัติเหตุและโรคภัยต่างๆ  แต่หลายโรคที่เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตในอดีตนั้น  เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้อย่างง่ายดาย ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยให้มนุษย์มีอายุขัยเพิ่มขึ้นมากกว่าสมัยศตวรรษที่แล้วถึง 2 เท่า 

 

ข้อมูลจากสหประชาชาติเมื่อปี 2012  รายงานว่าผู้มีอายุยืนเกิน 100 ปี ทั่วโลกมีจำนวนประมาณ 316,600 คน และคาดการณ์ว่าความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์จะทำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 100 ปีมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนในปี 2050 

 

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าทางชีวภาพร่างกายของมนุษย์มีอายุจำกัด แต่ความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์รวมทั้งทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้  ปัจจุบัน บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกหลายรายเริ่มหันมาให้ความสนใจการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเอาชนะข้อจำกัดทางชีวภาพร่างกายของมนุษย์ เพราะนี่คือโอกาสทางธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล  

 

ตัวอย่าง

  • Larry Ellison, กรรรมการระดับสูงผู้ก่อตั้ง Oracle ลงทุนมากกว่า 45 ล้านเหรียญในแต่ละปีเพื่อหาทางยืดอายุและแก้ปัญหาเกี่ยวกับความชราของร่างกายมนุษย์
  • Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google บริจาคเงินกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อการพัฒนาการวิจัยเกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ เช่นโรคพาร์กินสัน (Parkinson) 
  • บริษัท Alphabet ในเครือของGoogle ใช้เงินลงทุนกว่า 730 ล้านเหรียญเพื่อจัดตั้งบริษัท Calico โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยยืดอายุชีวิตมนุษย์ 
  • Peter Thiel ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Paypal บริจาคเงินกว่า 6 ล้านเหรียญให้แก่มูลนิธิ Sens เพื่อพัฒนาวิจัยให้มนุษย์มีชีวิตอยู่นานขึ้น 

 

และนี่คือ  5 เทคโนโลยีที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นวิทยาการใหม่ที่ช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้นี้

 

1. การบำบัดด้วยยีน (Gene therapies)  


เป็นการบำบัดหรือรักษาโรคด้วยวิธีใหม่โดยแก้ไขหรือทดแทนยีนส์ที่ผิดปกติในร่างกายที่เชื่อกันว่าเป็นยีนส์ที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ  อาทิ โรคที่เกิดจากความผิดปกติหรือถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคมะเร็งบางชนิด โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสบางประเภท   งานวิจัยล่าสุดพบว่า นักวิทยาศาสตร์สามารถทำให้หนูทดลองมีอายุเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าโดยการกำจัดยีนส์ 2 ตัว ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการกำหนดอายุขัยของหนู  ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในแวดวงวิทยาศาสตร์และกำลังเป็นความหวังในการยืดอายุขัยของมนุษย์ด้วยวิธีการเดียวกัน

 

2. เทคโนโลยีฟื้นฟูเซลล์ช่วยคืนความเป็นหนุ่มสาว (rejuvenation technologies)


เป็นเทคโนโลยีมุ่งเน้นการซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อที่เสื่อมสภาพหรือเสียหายอันเนื่องมาจากวัยที่เพิ่มขึ้น แม้จะไม่ใช่การขจัดต้นเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้อายุขัยสั้นโดยตรง  แต่ด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าไปไกลมากส่งผลให้เทคโนโลยีนี้นอกจากจะช่วยยืดอายุให้มีชีวิตยาวนานเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ดูอ่อนเยาว์และมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นด้วย ยกตัวอย่างความสำเร็จในปัจจุบัน เช่น ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ในการแทนที่ฮอร์โมนในร่างกายสัตว์และคนที่ช่วยกลับคืนความเป็นหนุ่มสาว การฉีดเอ็นไซม์ชนิดหนึ่งที่ช่วยซ่อมแซมเซลล์ภายในตัวหนู ทำให้หนูมีสุขภาพดีและมีอายุเพิ่มขึ้น เป็นต้น      

 

3. อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ช่วยเหลือ


ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้แนวโน้มการใช้ชีวิตของผู้พิการกับคนปกติแทบจะไม่แตกต่างกันเลย ตัวอย่างความก้าวหน้าล่าสุดของกายอุปกรณ์ เช่น มือเทียมที่สามารถสั่งการทำงานด้วยความคิดของคนได้ ความก้าวหน้าล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนา "ตับเทียม" ซึ่งสามารถควบคุมยาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน ตลอดจนเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติสำหรับใช้ผลิตอวัยวะและเนื้อเยื่อบางชนิดเพื่อทดแทนอวัยวะและเนื้อเยื่อในร่างกายที่สูญเสียไป เป็นต้น  เทคโนโลยีและวิทยาการเหล่านี้นอกจากช่วยให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้หมือนคนปกติแล้ว  ยังช่วยให้บุคคลเหล่านี้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น


4. เครื่องมือช่วยวินิจฉัยและบำบัดรักษา


เช่น การพัฒนาเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจวัดสัญญาณก่อนเกิดภาวะหัวใจวาย, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยเรื่องการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น นับเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยยืดอายุมนุษย์ได้

 

5. ผลิตภัณฑ์และโปรแกรมเพื่อสุขภาพ  


เครื่องมือ อุปกรณ์ ตลอดจนถึงยาชนิดต่างๆ ได้ถูกพัฒนาคิดค้นขึ้นจำนวนมาก  โดยมุ่งหวังดูแลรักษาสุขภาพมนุษย์แบบครบวงจร นับแต่ตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัยโรค การบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) ซึ่งสามารถตรวจสอบ ติดตามพร้อมทั้งแจ้งเตือนภาวะทางสุขภาพของร่างกายได้ในทุกขณะ ทั้งลุก นั่ง ยืน เดิน นอน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จำหน่ายในท้องตลาดมากมายโดยมุ่งหมายเพื่อใช้ตรวจติดตามในด้านใดด้านหนึ่ง แต่ในอนาคตมีแนวโน้มว่าทุกอุปกรณ์จะสามารถเชื่อมต่อเข้าหากัน โดยรวบรวมข้อมูลสุขภาพทุกด้านของแต่ละคนผ่านระบบ cloud  ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อการวางแผนป้องกัน และการบำบัดรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพได้  


ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้งในอนาคตอันใกล้เราน่าจะได้เห็นผู้มีอายุมากกว่า 100 ปีเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ คงไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยยืดอายุชีวิตแล้ว แต่น่าจะกลายเป็นเรื่องการหาทางจัดการหรือแนวทางรองรับประชากรผู้สูงวัยที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นแทน 

Tech2biz
Admin Tech2biz