การเพาะเมล็ดกล้วยไม้ด้วยราไมคอร์ไรซา 3477 Views

องค์ความรู้/เทคโนโลยี

        กรรมวิธี “การเพาะเมล็ดกล้วยไม้ด้วยราไมคอร์ไรซา” นวัตกรรมในการเพาะปลูกกล้วยไม้เพื่อใช้ทดแทนวิธีการเพาะเมล็ดกล้วยไม้บนอาหารสังเคราะห์ในรูปแบบเดิม ช่วยลดขั้นตอนการเพาะ ไม่ต้องอาศัยห้องปฏิบัติการและตู้ปลอดเชื้อ ช่วยให้ต้นอ่อนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ลดการเกิดโรค และช่วยป้องกันการปนเปื้อนของราชนิดต่างๆ ในกล้วยไม้

รายละเอียด

        “ราไมคอร์ไรซากล้วยไม้” เป็นราชนิดหนึ่งที่อาศัยรวมกับพืชวงศ์กล้วยไม้  จากการศึกษาวิจัยพบว่า ราไมคอร์ไรซากล้วยไม้ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตหลังการย้ายออกขวดและส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไม้ได้ โดยช่วยสร้างคาร์โบไฮเดรตและสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการงอกของเมล็ด ช่วยกระตุ้นการดูดซึมและลำเลียงธาตุอาหารและน้ำ ตลอดจนเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อเชื้อก่อโรคและไวรัสให้แก่ต้นกล้วยไม้ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีได้ทดสอบผลของราไมคอร์ไรซากล้วยไม้ต่ออัตราการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ลูกผสมสกุล Doritis, Callostylis bambusifolia (Lindl.) S. C. Chen & J. J. Wood, และเอื้องฟ้ามุ่ย (Vanda coerulea Griff. Ex Lindl.) พบว่า ต้นกล้วยไม้ที่เลี้ยงในวัสดุปลูกที่มีราจะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่า และเกิดโรคน้อยกว่าต้นกล้วยไม้ที่ไม่ได้เลี้ยงร่วมกับรา ทั้งยังช่วยลดการปนเปื้อนของราชนิดอื่นในวัสดุเพาะเมล็ดและวัสดุปลูก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคปลอดเชื้อ จึงไม่ต้องอาศัยห้องปฏิบัติการและตู้ปลอดเชื้อ อีกทั้งวิธีนี้ไม่ต้องใช้อาหารที่มีการเติมน้ำตาลหรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูงจึงสามารถลดปัญหาการปนเปื้อนได้

         เทคนิค “การเพาะเมล็ดด้วยราไมคอร์ไรซากล้วยไม้ (symbiotic seed germination)” ได้รับการพัฒนาคิดค้นเพื่อทดแทนวิธีการเพาะเมล็ดกล้วยไม้บนอาหารสังเคราะห์ในรูปแบบเดิม  ซึ่งช่วยให้เมล็ดกล้วยไม้เจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าการเพาะเมล็ดบนอาหารสังเคราะห์  มี 3 ขั้นตอนหลัก คือ 1) การแยกราไมคอร์ไรซาจากกล้วยไม้เพื่อให้ได้เชื้อราไมคอร์ไรซาบริสุทธิ์ 2) การเลี้ยงเชื้อราไมคอร์ไรซาบนวัสดุปลูกกล้วยไม้ และ 3) การเพาะเมล็ดกล้วยไม้บนวัสดุปลูกกล้วยไม้ที่มีราไมคอร์ไรซา  

        สำหรับการเพาะปลูกกล้วยไม้โดยวิธีการนี้ สามารถเพาะเมล็ดกล้วยไม้ปริมาณมากได้ จึงเหมาะสำหรับผู้สนใจทั่วไป โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยไม้และผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์

จุดเด่น

  • ช่วยส่งเสริมการเจรญเติบโตของกล้วยไม้ ลดการเกิดโรค และป้องกันการปนเปื้อนของราชนิดอื่นในวัสดุปลูกกล้วยไม้
  • การเพาะเมล็ดกล้วยไม้โดยการใช้ราไมคอร์ไรซากล้วยไม้ ไม่ต้องใช้เทคนิคปลอดเชื้อในขั้นตอนการเพาะเมล็ด

ตลาด/กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

  • เกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้
  • โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยไม้
  • ผู้ที่สนใจทั่วไป
พูดคุยกับเจ้าของเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
สุรีย์พร นนทชัยภูมิ
สถานะผลงาน
ระดับการทดลอง (Experimental)
  • Initial
  • Experimental
  • Prototype
  • Transfer
ความต้องการ

ต้องการผู้ประกอบการที่สนใจร่วมพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี ก่อนผลิต / ลงทุนเชิงพาณิชย์

ผู้เหมาะนำเทคโนโลยีไปลงทุน

  • ผู้ที่สนใจร่วมพัฒนาเทคโนโลยีราไมคอร์ไรซากล้วยไม้เพื่อการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ และการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เชิงพาณิชย์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ผู้สมัครสามารถสมัครโปรแกรม / ทุนสนับสนุนที่เกี่ยวข้องด้านล่างภายหลังการจับคู่ผ่านระบบสำเร็จ