ทุนวิจัยความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของประเทศไทย 2926 Views

รายละเอียด

ชื่อทุน:

ทุนวิจัยความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของประเทศไทย

หน่วยงาน:

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

ระยะเวลารับสมัคร:

ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2564 - 5 มีนาคม 2564

วงเงินที่ให้การสนับสนุน:

ไม่จำกัดวงเงินงบประมาณ (โดยต้องเหมาะสมกับปริมาณงานและวิธีการดำเนินงานวิจัย)

รายละเอียด:

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวิสัยทัศน์ว่า “สวก. เป็นผู้นำในการบริหารการวิจัยการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน” โดยเน้นการสนับสนุนทุนวิจัยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัด (OKR) ระดับประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในโปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ และแพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม โปรแกรมที่ 7 โจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเกษตร และจัดทำเป็นแผนงานและกรอบงบประมาณส่งให้กับกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.) รวบรวมเป็นงบประมาณของกองทุน ววน.ของประเทศต่อไป

กรอบ / ประเด็นให้การสนับสนุน:

กรอบการวิจัยที่ 1: ด้านความมั่นคงอาหาร

  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการจัดการตลอดห่วงโซ่ เพื่อลดการสูญเสียในระบบการผลิตอาหาร (Food loss)
  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อนําของเหลือใช้จากการเกษตรหรือกระบวนการผลิตอาหาร(Food Waste) ตั้งแต่ต้นน้ําจนถึงปลายน้ําไปใช้ประโยชน์ทั้งในรูปแบบ Food และ Non-food
  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ (Food Access)
  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบการสํารองอาหารภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนในระดับชุมชนมีแหล่งอาหารของชุมชนและประเทศ (Food Bank)
  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเครื่องจักรสมัยใหม่ (Robotic Automation in the Food Industry) เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารตลอดห่วงโซ่ ทั้งในภาคการเกษตรและ ภาคอุตสาหกรรม

กรอบการวิจัยที่ 2: ด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร

  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ส่งเสริมกระบวนการผลิตอาหารตลอดห่วงโซ่ เพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัย และสามารถทวนสอบย้อนกลับได้
  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างคุณค่า และอัตลักษณ์ให้กับสินค้าเกษตรและอาหารของแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละท้องถิ่น
  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสําหรับการตรวจสอบรับรองและการเฝ้าระวังตามแนวทางสากลเพื่อการควบคุมดูแลคุณภาพมาตรฐานสินค้าทั้งภายในประเทศและเพื่อการส่งออก
  • การวิจัยอาหารปลอดภัยเพื่อให้ได้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลเชิงประจักษ์ และแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยง สําหรับใช้คุ้มครองผู้บริโภคและสนับสนุนการค้าทั้งในและต่างประเทศ

กรอบการวิจัยที่ 3: ด้านอาหารศึกษา

  • การศึกษาและวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้เชิงสุขภาพและความปลอดภัย สร้างความเข้าใจ และปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อโภชนาการและสุขภาวะที่ดีของประชาชนทุกกลุ่มทั้งในชนบทและในเมือง (Behavior change)
  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบการสื่อสารและการศึกษาสําหรับส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถบริโภคอาหารที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตน (Media and Education)
  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตอาหารเชิงสุขภาพ อาหารทางการแพทย์ หรืออาหารที่มีโภชนาการที่ส่งผลต่อสุขภาวะที่ดีของประชาชนทุกกลุ่มวัย (Functional and Medical Foods)
  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาการทําอาหารท้องถิ่น ในเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับประเทศและสากล (Gastronomy food)

กรอบการวิจัยที่ 4: ด้านการบริหารจัดการ

  • การศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาระบบหรือกลไกเชื่อมโยงเครือข่ายความมั่นคงด้านอาหารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ยามขาดแคลนอาหารในภาวะวิกฤต
  • การศึกษาและวิจัยแนวโน้มความต้องการของตลาดเชิงลึก พฤติกรรมผู้บริโภค สถานการณ์ด้านอาหารทั้งในและต่างประเทศในทุกมิติ เพื่อใช้ในการกําหนดนโยบาย พัฒนาระบบงานปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับบริบทโลก
  • การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการจัดการฐานข้อมูลสารสนเทศ (big data management)เพื่อใช้บริหารจัดการระบบการผลิตอาหารของประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

คุณสมบัติของผู้ขอรับทุน:

  • ผู้มีสิทธิขอรับทุนจะต้องเป็นบุคลากรในภาครัฐหรือเอกชนที่มีสภาพเป็นนิติบุคคล โดยมีลักษณะดังนี้
  • มีสัญชาติไทย มีถิ่นพํานักถาวรในประเทศไทย และมีหลักฐานการทํางานมั่นคง
  • มีศักยภาพในการบริหารการวิจัยและ/ หรือการบริหารจัดการ
  • มีความรู้ความสามารถเป็นอย่างดีในวิทยาการด้านใดด้านหนึ่งเกี่ยวกับการวิจัยในข้อเสนอการวิจัยที่ขอรับทุนมีศักยภาพ ความพร้อมด้านวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ในการวิจัยที่จะดําเนินการวิจัยได้สําเร็จ
  • สามารถปฏิบัติงานและควบคุมการวิจัยได้ตลอดระยะเวลาที่ได้รับทุน รวมทั้งสามารถดําเนินการวิจัยให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กําหนดอย่างมีคุณภาพ
  • ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานระดับอธิบดี อธิการบดี หรือเทียบเท่าของภาครัฐที่ผู้อํานวยการแผนงานสังกัดอยู่หรือกรรมการผู้จัดการใหญ่หรือเทียบเท่าในส่วนของภาคเอกชน ให้ความเห็นชอบและรับรอง
  • เป็นผู้มีจริยธรรมตามจรรยาบรรณนักวิจัย

เงื่อนไข:

ข้อเสนอการวิจัยต้องมีลักษณะครบถ้วนทุกข้อ ดังต่อไปนี้

  1. มีประเด็นวิจัยสอดคล้องกับเป้าหมาย (Objectives) และผลสัมฤทธิ์ที่สําคัญ (Key Results) และกรอบการวิจัยตามประกาศนี้
  2. ข้อเสนอโครงการวิจัยต้องมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน และไม่จําเป็นต้องมีหลายข้อ
  3. คณะผู้วิจัยมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทํางานวิจัยในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
  4. ข้อเสนอโครงการจะต้องมีงบประมาณที่เหมาะสม และระบุขอบเขตของแผนการดําเนินงานพร้อมทั้งมีระยะการวิจัยที่ชัดเจน
  5. ข้อเสนอโครงการวิจัยที่เสนอขอรับการสนับสนุนทุนวิจัย ต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้จริง
  6. ข้อเสนอโครงการควรมีการร่วมมือระหว่างภาคเอกชน สถาบันวิจัย หน่วยงานของรัฐและสถาบันการศึกษา ตลอดจนเครือข่ายวิสาหกิจ เพื่อเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยต่อไป
  7. ข้อเสนอการวิจัยหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อเสนอการวิจัยนี้ ต้องไม่อยู่ในข้อเสนอการวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากแหล่งทุนวิจัยอื่น กรณีมีการต่อยอดจากงานวิจัยเดิมต้องแสดงขอบเขตการ ดําเนินงานระหว่างงานเดิม และงานใหม่และต้องมีหนังสือยินยอมจากหน่วยงานเจ้าของผลงานเดิม ให้นักวิจัยนําทรัพย์สินทางปัญญาจากการวิจัยมาดําเนินการวิจัยต่อยอด หาก สวก.ตรวจพบว่า ข้อเสนอการวิจัยดังกล่าวได้รับทุนซ้ำซ้อนหรือมีการดําเนินการวิจัยมาแล้ว สวก. ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการสนับสนุนทุนวิจัย และเรียกเงินทุนวิจัยคืน
  8. กรณีโครงการวิจัยเป็นการดําเนินงานในลักษณะการวิจัยร่วม (Co-funding) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้าง จากหน่วยงานอื่น ให้แสดงรายละเอียดการสนับสนุนดังกล่าว โดยระบุงบประมาณในแต่ละรายการในข้อเสนอการวิจัย พร้อมทั้งแสดงหนังสือรับรองจากหน่วยงานนั้นๆ
  9. กรณีที่เป็นการวิจัยที่ใช้คนหรือสัตว์ในการทดลอง จะต้องส่งข้อเสนอการวิจัยพร้อมใบรับรองการอนุมัติให้ดําเนินการวิจัยหรือ Certificate of Approval ที่ออกโดยคณะกรรมการจริยธรรมการ วิจัย ของสถาบันหรือมหาวิทยาลัย และกรณีที่นักวิจัยมีการดําเนินการวิจัยโดยใช้สิ่งมีชีวิตที่ตัดต่อ พันธุกรรม (GMO) ให้ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  10. กรณีที่เป็นโครงการความร่วมมือกับสถาบันหรือนักวิจัยต่างประเทศ ให้ปฏิบัติตามระเบียบสภาวิจัยแห่งชาติว่าด้วยการอนุญาตให้นักวิจัยชาวต่างประเทศเข้ามาทําการวิจัยในประเทศไทย พ.ศ.2550
  11. กรณีเป็นโครงการวิจัยที่มีการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพ ให้ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการในการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพ และการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากทรัพยากรชีวภาพ พ.ศ. 2554
  12. หัวหน้าโครงการและนักวิจัยร่วมทุกท่าน ต้องลงนามรับรองในข้อเสนอการวิจัยให้ครบถ้วน

ติดต่อสอบถาม:

โทรศัพท์: 02-579-7435
อีเมล์: support@arda.or.th

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)
Admin Tech2biz
เหมาะสำหรับ
  • อาจารย์ นักวิจัย
  • ผู้ประกอบการ บุคคลทั่วไป
ระยะเวลารับสมัคร
หมดเขตรับสมัครแล้ว