ขยะพลาสติกย่อยสลายได้ใน 1 วัน ด้วยเอนไซม์ ‘FAST- PETase’ 2760 Views

รายละเอียด

        นับเป็นความหวังใหม่ที่สำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกล้นโลก เมื่อนักวิจัยได้ค้นพบเอนไซม์ ‘FAST- PETase’ ช่วยลดระยะเวลาในการย่อยสลายขยะพลาสติกประเภท PET ที่นิยมนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เช่น ขวดน้ำ, กล่องพลาสติก, กล่องบรรจุอาหาร เป็นต้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายหลายร้อยปีให้เหลือเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง

        ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน (University of Texas at Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาปรับปรุงคุณสมบัติของเอนไซม์ PETase ซึ่งเป็นแบคทีเรียย่อยสลายพลาสติกที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรด-ด่าง (pH) จะทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยสลายลดลง จึงถูกนำมาปรับปรุงให้มีคุณสมบัติในการออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นและมีกระบวนการย่อยสลายรวดเร็วขึ้น

        FAST- PETase (Functional, active, stable and tolerant PETase) เอนไซม์ชนิดใหม่ ถูกพัฒนาให้สามารถออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นที่อุณหภูมิห้อง ( 30 - 50 องศาเซลเซียส) จึงสะดวกต่อการใช้งานมากกว่ารูปแบบเดิมที่ต้องใช้ความร้อนในการย่อยสลาย โดยทีมวิจัยได้ทดลองนำเอนไซม์ FAST- PETase มาย่อยสลายบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET จำนวน 51 รูปแบบที่แตกต่างกัน พบว่าสามารถย่อยสลายบรรจุภัณฑ์บางรูปแบบได้ภายใน 1 สัปดาห์ และบางรูปแบบย่อยสลายได้ภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ซึ่งความเร็วในการย่อยสลายขึ้นอยู่กับรูปแบบและความหนาของเนื้อพลาสติก นอกจากนี้พลาสติกที่ย่อยสลายไปแล้วยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีกด้วย

        ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ ที่นักวิจัยได้ค้นพบเอนไซม์ชนิดใหม่นี้ ในอนาคตหวังว่า FAST- PETase จะเป็นอีกทางออกสำคัญที่ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้ แต่อย่างไรก็ตาม การลดการใช้ถุงพลาสติกน่าจะเป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่าการเลือกแก้ปัญหาที่ปลายทาง ดังนั้นการปลูกฝังทัศนคติให้คนตระหนักถึงความสำคัญในการลดขยะ ก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยฟื้นฟูโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้

แหล่งข้อมูล : https://ngthai.com/environment/41168/,  https://www.tnnthailand.com/news/tech/112282/ 

dev
Admin Tech2biz