CUREs : หุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อกายภาพบำบัด 500 Views

รายละเอียด

        โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรืออาการอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่เกิดจากอาการสมองขาดเลือด เนื่องจากมีภาวะเส้นเลือดตีบ อุดตัน หรือเส้นเลือดแตก ผู้ป่วยมักจะมีอาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง อาการชา สูญเสียความรู้สึก มีปัญหาการพูดและการทรงตัว โดยสาเหตุสำคัญของโรคนี้มาจากภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ สำหรับประเทศไทยพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 300,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 5-20 เท่านั้นที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์เป็นปกติ ส่วนที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 70 ไม่สามารถหายได้ ส่งผลให้ขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน การทำงาน กระทบต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว ซึ่งการทำกายภาพบำบัดจะช่วยลดภาวะทุพพลภาพและจำนวนผู้พิการจากโรคหลอดเลือดสมองได้

        CUREs : หุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อกายภาพบำบัด ได้รับการพัฒนาคิดค้นเพื่อฟื้นฟูสมรรถนะของผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง และผู้สูงอายุที่มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยทำการพัฒนาหุ่นยนต์ให้สอดคล้องกับลักษณะการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยกายภาพบำบัด กระตุ้นให้ผู้ป่วยเคลื่อนที่ด้วยตัวเอง เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบำบัดได้มากขึ้น ผ่านการออกแบบตามมาตรฐานการแพทย์สากล มีความปลอดภัย และผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อการฟื้นฟู (Rehabilitation robot) ตามมาตรฐาน ISO

จุดเด่น

  • หุ่นยนต์ได้รับการออกแบบขึ้นมาเฉพาะสำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง โดยใช้ชุดควบคุมการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน 3 ประเภท
  • สามารถตรวจและติดตามการเคลื่อนที่ของผู้ป่วยได้
  • ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบำบัดได้มากขึ้น ค่าใช่จ่ายลดลง
  • ระบบการผลิตได้รับมาตรฐานสากล รองรับบริการดูแลและซ่อมบำรุง

ลูกค้าเป้าหมาย

  • โรงพยาบาล
  • ศูนย์กายภาพบำบัด
  • ผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง
  • ผู้สนใจทั่วไป

ความสำเร็จ

        ได้รับการติดตั้งและใช้งานตามศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า สภากาชาดไทย โรงพยาบาลหาดใหญ่ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการนำไปใช้งานจริงประจำบ้านของผู้ป่วย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Admin Tech2biz
ข้อมูลจำเพาะผลิตภัณฑ์ / ความสำเร็จ
สถานภาพด้านทรัพย์สินทางปัญญา
สิทธิบัตร เลขที่ 1601003552, 1601003553 และ 1701003816
เจ้าของผลงาน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ประดิษฐ์
ศาสตราจารย์ ดร. วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ