บพท. เปิดรับสมัครทุนโครงการขยายผลเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับธุรกิจและกระจายรายได้สู่ครัวเรือน (Potential-upscale Appropriate Technology) 207 Views

รายละเอียด

        หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดรับสมัครทุน โครงการขยายผลเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับธุรกิจและกระจายรายได้สู่ครัวเรือน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย, หน่วยงานวิจัย, ภาคเอกชน, SMEs และ Startup ที่มีความเชื่อมโยงกับครัวเรือน/ชุมชน สามารถพัฒนาและขยายผลเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ สู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับขีดความสามารถของภาคธุรกิจ พร้อมไปกับการกระจายรายได้สู่ครัวเรือน/ชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

เป้าหมายสำคัญของโครงการ คือ การเพิ่มรายได้หรือสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจสุทธิแก่ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน (60,000 บาท/ปี/ครัวเรือน) สำหรับ 12,000 ครัวเรือน ภายในระยะเวลา 2 ปี ผ่านการพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อขยายผลเทคโนโลยีสู่ตลาดระดับประเทศและระดับสากล และ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

กรอบ / ประเด็นให้การสนับสนุน

ประเภทงานวิจัย เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่สามารถเสนอขอรับทุน

  • เทคโนโลยีการเกษตร (เช่น การเพิ่มผลผลิต การยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร เครื่องจักรกลเกษตร หรือระบบการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ ฯลฯ)
  • เทคโนโลยีการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์การเกษตรและสมุนไพร (เช่น การแปรรูป การยืดอายุ การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ฯลฯ)
  • เทคโนโลยีพลังงาน (เช่น พลังงานทดแทน การจัดการพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตของภาคธุรกิจ ฯลฯ)
  • เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม (เช่น การบริหารจัดการของเสีย การรีไซเคิล การลดมลพิษ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในเชิงพาณิชย์ ฯลฯ)
  • เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม (เช่น แพลตฟอร์มดิจิทัล ระบบจัดการข้อมูล การใช้ AI, IoT หรือโซลูชัน IT ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายศักยภาพของธุรกิจ ฯลฯ)
  • เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถนำไปใช้พัฒนาธุรกิจ และ กระจายรายได้สู่ครัวเรือน/ชุมชน ได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจ้างงานในพื้นที่ การใช้วัตถุดิบจากชุมชน หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทาน

กรอบงบประมาณและระยะเวลา

  • งบประมาณสนับสนุน: ระหว่าง 1,000,000 – 3,000,000 บาทต่อโครงการ โดยคณะกรรมการจะพิจารณาจากขอบเขตการดำเนินงาน ความชัดเจนของเป้าหมาย ความเหมาะสมในการดำเนินกิจกรรม และระดับของผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
  • ระยะเวลาดำเนินงาน: ไม่เกิน 12 เดือน (1 ปี) นับจากวันที่ลงนามในสัญญารับทุน
  • รูปแบบการใช้ทุนสนับสนุน: 
    • ใช้ในการวิจัย พัฒนา ปรับปรุงต้นแบบ หรือขยายผลเทคโนโลยี/นวัตกรรมที่พร้อมใช้งาน
    • ดำเนินกิจกรรมที่นำไปสู่การขยายผลในเชิงพาณิชย์ เช่น การทดสอบตลาด การปรับกระบวนการผลิต การสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจหรือชุมชน
    • ต้องมีการร่วมทุนจากหน่วยงานภายนอก/ภาคเอกชน (Co-funding) ในรูปแบบ เงินสด (in cash) หรือ ทรัพยากร (in kind) รวมมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของงบประมาณรวมโครงการ

โจทย์การวิจัย

  1. ส่งเสริมการต่อยอดและขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสมเชิงพาณิชย์
    เป้าหมาย:
    • ครัวเรือนในพื้นที่ที่มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 5,000 บาทต่อเดือน หรือ 60,000 บาทต่อปี จำนวนอย่างน้อย 12,000 ครัวเรือน ภายใน 2 ปี
    • กลุ่มธุรกิจเอกชน/SMEs ที่ร่วมดำเนินโครงการ อย่างน้อย 12 กลุ่ม/ราย
  2. พัฒนาเทคโนโลยีหรือกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์ตลาดจริง (Market-Ready) และสามารถขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว (Quick Win)
    เป้าหมาย:
    • เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี/นวัตกรรมใหม่ หรือการปรับปรุง/scale-up เทคโนโลยีเดิมให้เข้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ อย่างน้อย 10-12 เทคโนโลยี
    • ครัวเรือน/ชุมชนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน อย่างน้อย 1,000 ครัวเรือน เช่น การผลิตวัตถุดิบ การแปรรูป ฯลฯ
  3. เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ นักวิจัย และชุมชน
    เป้าหมาย:
    • เกิดความร่วมมือระหว่างเอกชนกับหน่วยวิจัย/มหาวิทยาลัย อย่างน้อย 10-12 คู่ความร่วมมือ
    • โมเดลธุรกิจที่สามารถขยายผลได้จริงในพื้นที่ อย่างน้อย 10 กรณีตัวอย่าง

เกณฑ์ / เงื่อนไข

คุณสมบัติของผู้เสนอขอรับทุน

  1. ผู้มีสิทธิ์เสนอขอรับทุน ได้แก่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย หรือบริษัทเอกชน/SMEs/Startup ที่มีผลงานวิจัย เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่มีศักยภาพและผ่านการทดสอบในระดับ TRL 5 ขึ้นไป (ต้นแบบที่ผ่านการทดสอบในสภาพแวดล้อมที่ควบคุม (Pilot Scale - Controlled Environment) เช่น โรงงานต้นแบบ หรือสถานที่ทดลองเฉพาะ) และพร้อมต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยมีเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของผลงานอย่างถูกต้อง หรือมีข้อตกลงความร่วมมือกับเจ้าของผลงานในการดำเนินงาน
  2. ต้องมีความร่วมมือกับหน่วยธุรกิจอุตสาหกรรม (Business Unit) เช่น SMEs, Startup หรือบริษัทเทคโนโลยี ที่มีแผนธุรกิจชัดเจน พร้อมขยายตลาด มีแผนการผลิตจริงหรือแผนการลงทุนร่วม และสามารถระบุบทบาทของแต่ละฝ่ายในโครงการได้อย่างชัดเจน (แนบเอกสารแสดงความร่วมมือ หรือ MOU) และต้องมีการร่วมลงทุนจากหน่วยงานร่วมหรือภาคเอกชนในรูปแบบเงินทุน (in cash) หรือทรัพยากรสนับสนุน (in kind) รวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของงบประมาณรวมของโครงการ (แนบเอกสารแสดงเจตนารมณ์การร่วมทุน)
  3. กรณีผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนเป็นภาคเอกชนและภาคประชาสังคม จะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2563

เกณฑ์การพิจารณา

  1. ข้อเสนอโครงการวิจัยเป็นไปตามเงื่อนไขของประกาศทุนที่ระบุไว้
  2. มีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและสอดคล้องกับแนวทางของ บพท.
  3. มีหน่วยร่วมที่มีศักยภาพ เช่น หน่วยธุรกิจ (SMEs, Startup, บริษัทเทคโนโลยี) ที่มีแผนธุรกิจ แผนการลงทุน และสามารถขยายผลได้จริง
  4. มีการลงทุนร่วมจากหน่วยร่วม/ภาคเอกชน (in cash หรือ in kind) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของงบประมาณโครงการ
  5. เทคโนโลยีที่นำเสนอมีระดับความพร้อม TRL 5 ขึ้นไป (ผ่านทดสอบในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมหรือ Pilot Scale) และมีศักยภาพ ความสามารถในการพัฒนาต่อยอดเข้าสู่ตลาด
  6. มีแผนการเชื่อมโยงการดำเนินงานกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อกระจายรายได้สู่ครัวเรือนอย่างชัดเจน เช่น การรับซื้อวัตถุดิบจากชุมชน การจ้างงานในพื้นที่ หรือการแบ่งปันมูลค่ากับครัวเรือน/ชุมชน
  7. มีศักยภาพและแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจแก่ครัวเรือนเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การเพิ่มรายได้สุทธิ ลดต้นทุน/ค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือสร้างโอกาสการจ้างงานใหม่ให้แก่ครัวเรือน โดยหากสามารถนำไปใช้/จำหน่ายจริงได้อย่างรวดเร็ว (Quick Win) และสร้างส่งผลกระทบต่อครัวเรือนในวงกว้างจำนวนมากจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
  8. มีศักยภาพและโอกาสในการขยายผลเข้าสู่ตลาดในระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติได้
  9. มีการระบุผลลัพธ์ที่วัดได้ เช่น รายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น จำนวนการจ้างงาน หรือต้นทุนที่ลดลง พร้อมระบุวิธีการวัดและติดตามผล เช่น จำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ และการคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อครัวเรือน เพื่อให้สามารถประเมินความสำเร็จและปรับปรุงโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

ขั้นตอนการสมัคร

  1. อ่านรายละเอียดและดาวน์โหลดแบบฟอร์มสมัครได้ที่: https://shorturl.asia/52J17
  2. โปรดส่งแบบฟอร์มสมัครที่กรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้วผ่าน ทั้ง 2 ช่องทาง
    1. ระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS): https://nriis.go.th/
    2. แบบฟอร์มออนไลน์ (Google Forms): https://forms.gle/UwZRMRGeQWZzf9Qw7
  3. กำหนดส่งแบบฟอร์มสมัคร: ภายในวันพุธที่ 30 เมษายน 2568 เวลา 17.00 น.
  4. ประกาศผลพิจารณาเบื้องต้น ภายในวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2568

ติดต่อสอบถาม

  • น.ส. ธวัลรัตน์ พุทธิพงษ์
    เจ้าหน้าที่ประสานงานกรอบการวิจัย
    โทร: 098-879-9753
    อีเมล: thawanrat.trf@gmail.com 
  • น.ส.ปาณิสรา ตุงคะสามน
    นักวิเคราะห์ หน่วย บพท.
    โทร: 02-109-5432 ต่อ 826
    อีเมล: panisara.tun@nxpo.or.th

หมายเหตุ: ติดต่อในวันและเวลาปฏิบัติงาน

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
Admin Tech2biz
รูปแบบการสนับสนุน
  • เงินทุนสนับสนุน
เหมาะสำหรับ
  • นักวิจัยมหาวิทยาลัย
  • หน่วยงานวิจัย
  • ภาคเอกชน
  • SMEs
  • Startup
ระยะเวลารับสมัคร
วันนี้ - 30 เม.ย. 2568